บันทึกประสบการณ์อุปสมบท ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง นนทบุรี

ย้อนเวลากลับไป 15 ปี วันที่ดูแลแม่ที่ป่วยที่โรงพยาบาล และ เสียชีวิตลงในห้อง ICU คำสั่งเสียครั้งสุดท้ายไม่ได้รับจากแม่ของตัวเอง แต่ได้รับปากไว้ข้างหูแม่ตัวเองว่าถ้ามีโอกาสและเวลาที่เหมาะสม จะขอบวชให้นะ จนกระทั้่งมาถึงเวลาในช่วงที่เหมาะสมของตัวเอง และในใจคือ อยากบวช จนเป็นที่มาของการหาวัดที่จะบวช(อุปสบบท) จนกระทั้่งมาเจอวัด ชลประทานรังสฤษดิ์ ที่น่าจะตรงกับตัวเองมากที่สุด (วันฉลองพระ ก็นำเรื่องนี้มาเทศน์)

ทำไมถึงเลือกวัดชลประทานรังสฤษดิ์

เพราะบวชยาก (มีสอบท่องขานนาค) ปฏิบัติเยอะ นอนน้อย พระอาจารย์ มีความรู้มากพร้อมที่จะสละเวลาให้กับ พระบวชใหม่ ที่เรียกว่าพระนวกะ และมีประสบการณ์จากพระนวกะที่เคยบวชวัดนี้แนะนำ และส่วนตัวที่บวชมาแล้ว 15 วัน ก็คงแนะนำที่นี่ สำหรับ การพาลูกหลานมาบวช

มาเริ่มต้นตั้งแต่วันแรก – วันลาสิกขา

การรับสมัครบวชของวัดนี้จะมีเป็นรอบ ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นวันอาทิตย์กลางเดือน บวชตอนต้นเดือน เราสามารถติดตามเพจของวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/PageWatchol

พระอาจารย์ที่มาสอนพระบวชใหม่ (พระนวกะ)
ฝ่ายบรรพชาอุปสมบท 📱โทร. 02-5838847
พระมหาบุญส่วน ปุญฺญสิริ 📱โทร. 084-4229943
พระมหาสมัคร โกวิโล 📱โทร. 094-9593239
พระสมุห์ระหัส ถาวโร 📱โทร. 090-9929444

การสมัครและการสอบขานนาค

การสอบขานนาค จะอยู่ในคู่มือ อุปสมบท ท่องเอสาหัง ไปจนจบ กับพระอาจารย์ต้องสอบให้ผ่านก่อน ถ้าผ่านแล้ว จำบทนี้ไว้ตอนวันบวชจริง เพราะจะต้องบวชในโบสถ์กับพระอุปัชฌาย์ (เจ้าอาวาส) และ พระคู่สวดอีก 2 รูป รวมพระ 10 รูป ครบองค์ประชุมสงฆ์ถึงจะบวชพระได้จริง

ค่าใช้จ่ายหลังจากท่องขานนาคผ่าน

  • ค่าอัฐบริขาร จำนวน 3000 บาท
  • ค่าตรวจร่างกายในโรงพยาบาล อีก 2000 บาท เพื่อยืนยันว่าเราไม่มีโรคร้ายแรงตามที่วัดกำหนด
คู่มือการบวช
คู่มือการบวช

นอนวัด 1 คืน วันในวันบวชนาค และ อีก 15 คืน ในวันที่เราออกบวช

อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดห้ามนำเข้ามาในวัดทั้งหมด คือ ห้ามใช้ ตัดขาดจากโลกภายนอก และ นำอุปกรณ์ที่จำเป็นเข้าไป เช่น หมอน และ ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว รองเท้าแตะ นาฬิกาปลุก (จำเป็นมาก) ยากันยุง ประมาณนี้ ส่วนที่เหลือไปใช้ของรุ่นก่อน ๆ ได้ มี ญาติโยมมาทำบุญเยอะ

บวชพระวัดชลประทาน
บวชพระวัดชลประทาน

วันบวชนาค กับการปรับตัว 1 วันแรก มื้อเย็น และ เพื่อนใหม่

การปรับตัวในวันแรก เพื่อนใหม่ และ การทานมื้อเย็น สังคมใหม่ทุกอย่างเริ่มต้นใหม่หมด จากที่นอนติดแอร์ มาเป็นที่นอนไม้กระดาน ห้องพัดลม ในพื้นที่ที่เรียกว่า กุฏิสี่เหลี่ยม

กุฎิสี่เหลี่ยม
กุฎิสี่เหลี่ยม

ด้านในกุฏิสี่เหลี่ยมจะแบ่งเป็นห้อง 50 – 60 ห้อง 1 ห้องนอนได้ 2 คน แต่วันที่มาบวช มี 18 รูป จึงนอนได้คนละ 1 ห้อง สถานที่ด้านในต้นไม้เยอะ ร่มรื่น เงียบสงบ

กิจกรรมใน 1 วันของการบวชมีอะไรบ้าง

  • 3.30 น. ตื่นนอน (ส่วนตัวตื่นตี 3 ตลอด)
  • 4.00 น. ทำวัดเช้า
  • 5.30 น. บิณฑบาตร ตามเส้นทางที่เขาจัดให้มี หลวงพี่ หลวงตา นำทาง
  • 7.00 น. ฉันเช้า ที่ลานหินโค้ง
  • 9.00 น. เรียนตามตารางที่ทางวัดจัดไว้ให้
  • 10.40 น. รับอาหารจากโยม มาถวาย ฉัน เพล
  • 12.00 น. พักเที่ยง
  • 13.00 น. เรียนช่วงบ่าย
  • 15.30 น. กวาดเช็ดถู วัด ตาม Group ที่ได้รับมอบหมาย
  • 18.00 น. ทำวัดเย็น
  • 21.00 น. จำวัด

เป็นแบบนี้ 15 วันไม่มีเวลาพักเกิน 1 ชม. เมื่อฉันเช้า หรือ ฉันเพลแล้ว จะต้องไปล้างบาตร และ พับจีวร โดยหาเพื่อนช่วยกันพับ เพื่อรักษาเวลาเสมอ

ในกิจกรรมของการบวช คือ การฉลองพระใหม่

พระใหม่ จะได้ขึ้นเทศน์ทุกรูป พร้อมจัดเตรียมอาหารเพลมาถวายพระใหม่ ซึ่งก็ใช้จ่ายประมาณ 2-3 พันบาท แต่เป็นการสลับหมุนเวียนกันไป เพื่อให้ได้พระใหม่ได้กล่าวนำสวดมนต์ และ ให้พร แก่ญาติโยมที่มาทำบุญกับพระใหม่

กิจกรรมการเดินทางไปวัดวัดปัญญานันทาราม คลอง หก ปทุมธานี จะเดินทางทุกวันที่ 9 ของทุกเดือน

การเรียนของพระใหม่ มีอะไรบ้าง

  • พระวินัย ของ ภิกษุ
  • ประวัติต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า
  • การทำกรรมฐาน
  • อริยสัจ
  • บุญพ่อและแม่
  • และ คำแปลต่าง ๆของบทสวดมนต์

การบวชวัดนี้สิ่งที่ต้องเตรียมร่างกายที่จำเป็นมาก ๆ

การนั่งพับเพียบ และ นั่งขัดสมาธิ ที่จะต้องนั้่งกันนาน ๆ เกิน 2-3 ชม. บางวัน 6 ชม.จนต้องกินยาคลายกล้ามเนื้อและติดแผ่นตราเสือไว้ที่กล้ามหลัง เพราะปวดจริง ๆ

อาหารของญาติโยมที่ดูแลวัดนี้มีมาก ส่วนที่เหลือแจกจ่ายโรงทาน

อาหารจะถูกแบ่งปันไปที่โรงทาน เมื่อพระบิณฑบาตรเสร็จแล้วจะแบ่งไปที่โรงทาน และ ญาติโยมต่าง ๆ ที่มาในวัดก็จะได้กินด้วย

ได้อะไรหลังจากการบวชพระ เป็นระยะเวลา 15 วันบ้าง

  • เข้าใจทุกข์ เข้าใจธรรมะ และ เข้าใจการปฏิบัติตามรอยคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงการสั่งสอนปฏิบัติของอดีตเจ้าอาวาส หลวงพ่อปัญญานันทภิขุ และ เจ้าอาวาส พระอุปัชฌาย์ (สุภโร) ปัจจุบันที่สอนให้คนปฏิบัติธรรมเข้าใจความจริงของธรรมะ
  • ขันติ ได้รู้จักความอดทน ตื่นตี 3 ทำกิจกรรมของสงฆ์ได้ทุกวัน
  • ได้เรียนรู้ใจตัวเอง ตอนที่ไม่มีอุปกรณ์สื่อสารใด ๆ เข้าไปวุ่นวายในชีวิต
  • ได้รู้จักคำว่า เมตตา ที่ญาติโยมดูแล อย่างดี จนไม่กล้าผิดพระวินัย ของสงฆ์
  • ได้รู้จักการนอน,การปฏิบัติธรรมแบบแท้จริง

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณทั้งพระอาจารย์ และ เพื่อน ๆ นวกะ เดือนธันวาคม 2565 ทั้ง 18 รูป

สำหรับใครมีลูกหลาน อายุเกิน 20 – 55 ปี แล้วอยากหาวัดที่จะบวช ยังงัยก็จะแนะนำที่นี่ จะได้เรียนรู้กับ พระอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน พระมหาบุญส่วน ปุญฺญสิริ | พระมหาสมัคร โกวิโล |พระสมุห์ระหัส ถาวโร ที่มีความรู้และแบ่งเวลามาสอน มีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายในวัดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 15 วัน ผ่านไปช่วงแรก ช้ามาก ช่วงวันใกล้สึก ลาสิขา ทำไมเร็วจัง

วันนี้ลาสิกขา ออกมาแล้ว เลยขอบันทึกไว้ใน Blog ของตัวเองซะหน่อย เผื่อวันหลังได้กลับมาอ่านอีกครับ

พี่อ้วน